![]() |
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือ ภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โรคกรดไหลย้อนพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังแข็ง (scleroderma) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกเวลา โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ (ยกเว้นจะผ่าตัดแก้ไข) ผู้ป่วยที่หายแล้วอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน คือ อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาถึงอกหรือคอเนื่องจากการระคายเคือง หรือหลอดอาหารอักเสบและมีแผล อาการแสบร้อนนี้จะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย นอกจากนี้ยังมีอาการเรอเปรี้ยวเพราะมีกรดในกระเพาะซึ่งมีรสเปรี้ยวหรือรสขมของด่างไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยผุ้ป่วยอาจจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้
นอกจากนี้ยังแบ่งอาการออกได้ตามอวัยวะที่ถูกระคายเคือง เช่น อาการทางคอหอยและหลอดอาหารก็จะมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปีดังที่กล่าวมาข้างต้น รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก มีเสมหะ เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกแน่นหน้าอกเหมือนอาหารไม่ย่อย ส่วนอาการที่เกิดขึ้นทางกล่องเสียงและปอด คือ มีเสียงแหบเรื้อรัง ไอเรื้อรัง บางครั้งสำลักในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืดจะมีอาการแย่ลง นอกจากนี้อาจมีอาการปอดอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ ด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดเป็นระยะเวลานาน มีกิจวัตรประจำวันที่เร่งรีบ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเนื่องจากจะไปทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้นทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น การสูบบุหรี่และการดื่มสุราเพราะจะทำให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้น ส่วนอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายจะเกิดจาก
จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้ โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษาแพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้อง รักษาและการผ่าตัด โดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้ คือ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต ระวังไม่ให้อ้วนเกินไป ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรทิ้งช่วงไว้อ่างน้อย 3 ชั่วโมง รับประทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำการรักษาต่อไป
เรียบเรียงโดย: รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com เอกสารอ้างอิง 1. รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ กรดไหลย้อน.....ภัยเงียบวัยทำงาน สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน โรคกรดไหลย้อน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอบคุณภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net by Ohmega1982 |