อ่าน 3802 ครั้ง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
content/125.jpg
 

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งที่มีต้นกำเนิดมาจากต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ

ต่อมน้ำเหลือง (lymph node) จะพบได้ทั่วร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองที่คลำได้ง่ายมักพบบ่อยบริเวณลำคอ รักแร้ เต้านม หรือ บริเวณขาหนีบ นอกจากนี้ยังมีอวัยวะอื่นที่จัดอยู่ในระบบน้ำเหลืองอีกได้แก่ ต่อมทอลซิล ม้าม และต่อมไทมัส

ระบบน้ำเหลืองของร่างกาย มีหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรคโดยการขนส่งน้ำเหลืองไปตามหลอดน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เมื่อต่อมน้ำเหลืองทำงานผิดปกติไป จะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

 

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีสองชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma, NHL)  และชนิด ฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease) ในประเทศไทยจะพบชนิด NHL บ่อยที่สุด และเนื่องจากต่อมน้ำเหลืองพบได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงสามารถพบได้ในทุกอวัยวะ แต่ส่วนมากมักเริ่มเป็นที่ต่อมน้ำเหลือง

 

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน

เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้น้อย การวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจพบว่ามีเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่ารีดสเทิร์นเบิร์ก (Reed-Sternbrerg cell) ซึ่งไม่พบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน

 

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้มากกว่า 30 ชนิดย่อย ซึ่งอาศัยอัตราการเจริญของเซลล์มะเร็ง จะสามารถแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ออกได้เป็น 2 ชนิด

 

1. ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งต่อของมะเร็งค่อนข้างช้า มีอาการน้อย ซึ่งผู้ป่วยมักจะอยู่ได้นานเป็นสิบปี ดังนั้นผู้ป่วยส่วนมากจะมาพบแพทย์ในระยะที่โรคมีการกระจายไปมากแล้ว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะตอบสนองดีต่อการรักษา แต่มักมีการกลับเป็นซ้ำของโรคได้บ่อย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพียงแค่ติดตามอาการเท่านั้น แต่มะเร็งชนิดนี้มักไม่หายขาดโดยการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

2. ชนิดรุนแรง (Aggressive) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง มีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคได้ถ้าได้รับการรักษาอย่างเต็มที่

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อายุ: อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น โดยอุบัติการณ์สูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 60 – 70 ปี

 

เพศ: เพศชายพบเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าเพศหญิง

 

การติดเชื้อ: พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobactor pylori กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MALT lymphoma การติดเชื้อไวรัส EBV กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt

 

ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย: ผู้ป่วย HIV พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น

 

โรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease): ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น

 

การสัมผัสสารเคมี: เช่น ยาฆ่าแมลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย คือ การพบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมักไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน อาการไข้หนาวสั่น มีเหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก ต่อมทอลซิลโต ปวดศรีษะ (พบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)

 

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

1. ซักประวัติและการตรวจร่างกาย

2. การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

3. การตรวจไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีการกระจายเข้าไปในกระดูกหรือไม่

4. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

5. การตรวจกระดูก (Bone Scan)

6. การตรวจ PET Scan

 

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

                ระยะที่ 1 มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว

                ระยะที่ 2 มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไป โดยต้องอยู่ภายในด้านเดียวกันของกระบังลม

                ระยะที่ 3 มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลืองหรือนอกต่อมน้ำเหลืองที่อยู่คนละด้านของกระบังลม และ/หรือ พบรอยโรคที่ม้ามร่วมด้วย

                ระยะที่ 4 มีรอยโรคกระจายออกไปเกินตำแหน่งเริ่มต้นที่พบ ตำแหน่งที่พบกระจายได้บ่อย เช่น ตับ ไขกระดูก หรือ ปอด

 

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 การรักษาจะขึ้นกับระยะที่ผู้ป่วยเป็นและสภาวะร่างกายโดยรวม แบ่งออกเป็น

 

1. การเฝ้าระวังโรค: จะพิจารณาจากการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดไม่รุนแรงที่ยังจำเป็นต้องรับการรักษา โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามเป็นระยะเมื่อพบว่าโรคมีการกระจายมากขึ้น หรือเกิดอาการจากตัวโรคจึงพิจารณาให้การรักษา

 

2. การใช้ยาเคมีบำบัด: คือการใช้ยาที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย ยาอาจอยู่ในรูปแบบยากินหรือยาฉีด สูตรยาเคมีบำบัดที่จะได้รับขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคที่เป็น

 

3. การรักษาด้วยการฉายรังสี: เป็ฯการใช้รังสีขนาดสูงเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งในแต่ละบริเวณ มักพิจารณาการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะแรก

 

4. การรักษาด้วยแอนติบอดี: เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่เป็นสารสังเคราะห์ ไปจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์มะเร็งแล้วส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำลายของเซลล์มะเร็งเพิ่มโดยใช้เครื่อง หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

 

5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell transplantation): คือ การให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่แล้วตามด้วยการให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วย มักพิจารณาการรักษษด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ดื้อต่อการรักษา หรือในผู้ที่มีโรคกลับเป็นซ้ำ

 

yes ขอบคุณที่มา: เอกสารเผยแพร่ความรู้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ขอบคุณภาพประกอบจาก buzzle.com/articles/location-of-lymph-nodes-in-neck.html







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#