อ่าน 2584 ครั้ง
มะเร็งต่อมไทรอยด์
content/128.jpg
 

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณคอทางด้านหน้าของกล่องเสียงและหลอดลม ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมปฏิกิริยาการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของสมองทารก ในช่วงอยู่ในครรภ์มารดา มีผลในการควบคุมอัตราการบีบตัวของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิของร่างกาย

 

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer) ส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิง สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาการที่พบผู้ป่วยมักมีก้อนโตที่คอ แข็ง กดไม่เจ็บ ก้อนโตเร็ว บางรายอาจะมีเสียงแหบ หายใจลำบาก หรือ กลืนลำบาก ซึ่งควรจะมารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันได้

 

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอก (คอโต) แต่มักจะเป็นก้อนแข็ง ๆ ซึ่งอาจเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนก็ได้ ผิวไม่ค่อยเรียบและขยับไปมาไม่ค่อยได้ มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด (ยกเว้นในรายที่มีเลือดออกเข้าไปในก้อนมะเร็ง อาจทำให้มีอาการปวดคล้ายกับต่อมไทรอยด์อักเสบได้) ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคออาจโตร่วมด้วย บางรายอาจมีเสียงแหบ หายใจลำบาก หรือกลืนลำบาก เกิดจากก้อนที่โตเร็ว อาจโตกดหลอดลม หรือหลอดอาหาร ซึ่งควรจะมารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันได้

 

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไทยรอยด์ประกอบด้วย

 

1. การได้รับรังสี เช่น เคยฉายรังสีบริเวณลำคอหรือได้รับรังสีเอกซเรย์มากจนเกินไป

 

2. ประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

 

3. ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายสามเท่า

 

4. คนที่เคยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แม้ว่าจะไม่ใช่มะเร็งก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์

 

5. อายุมากกว่า 45 ปี คนส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์มักจะมีอายุมากกว่า 45 ปี

 

6. ไอโอดีน ถ้าได้รับไอโอดีนจากอาหารน้อยเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Follicular cell carcinoma แต่ถ้าได้รับมากจนเกินไปก็จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary cell carcinoma

 

7. คนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ทุกราย ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์บางรายก็ไม่มีความเสี่ยงด้วยซ้ำ

 

การวินิจฉัย

 

แพทย์จะซักประวัติ อาการ อาการแสดงและประวัติครอบครัว ประวัติการรักษาอื่น ๆ แพทย์จะตรวจร่างกาย โดยการคลำที่คอเพื่อดูว่ามีก้อนโตหรือต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงโตมากขึ้นหรือไม่ ร่วมกับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

-          การเจาะเลือด เป็นการตรวจฮอร์โมน (TSH) ซึ่งถ้ามีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป แสดงว่าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ แพทย์อาจตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเพื่อดูการทำงานของฮอร์โมนแคลซิโทนิน

 

-          อัลตราซาวน์ จะเป็นการใช้คลื่นเสียง เพื่อสร้างภาพของต่อมไทรอยด์ที่โตมากขึ้น เพื่อดูขนาดและรูปร่างของต่อมไทรอยด์ และเพื่อดูว่าเป็นก้อนแข็งหรือเป็นก้อนที่ภายในเป็นของเหลว (ซีสต์หรือถุงน้ำ)

 

-          การตรวจไทรอยด์สแกน เป็นการตรวจที่ให้ผู้ป่วยดื่มไอโอดีนรังสีเข้าไป เพื่อให้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดหลังจากนั้นต่อมไทรอยด์ก็จะดูดซับไอโอดีนรังสีเหล่านั้นไว้ แล้วสามารถถ่ายออกมาเป็นภาพได้

 

-          การนำชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นวิธีการที่แม่นยำที่สุดเพราะได้เห็นเซลล์จากกล้องจุลทรรศน์ ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้เข็มเจาะดูด แพทย์จะดูดเซลล์ตัวอย่างก้อนของต่อมไทรอยด์เพื่อส่งตรวจ

 

-          การผ่าตัด ใช้ในกรณีไม่สามารถใช้เข็มเจาะดูดตัวอย่างเซลล์ได้

 

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

 

จะรักษาโดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพื่อเอามะเร็งออก ภายหลังจากการผ่าตัดต้องให้ดื่มสารไอโอดีน – 131 และทดแทนฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์โดยการให้ไทรอกซินฮอร์โมน

 

ขอบคุณที่มา: เอกสารเผยแพร่ความรู้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง

ขอบคุณภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net โดย marin







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#