อ่าน 2864 ครั้ง
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน
content/48.jpg
 

 

             เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือ ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานประเภทที่ 1 ที่จะต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเป็นประจำ โดยหลักแล้วการรักษาเบาหวานจะมีเป้าหมายในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ฟัน ผิวหนัง เท้า ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด

 

              นอกจากการรับประทานยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ป่วยเองจะต้องควบคุมอาหารที่รับประทานเข้าไปและควบคุมน้ำหนักด้วย เพราะถ้าหากรับประทานของหวาน หรืออาหารจำพวกแป้ง มากเกินไป ถึงแม้ว่าจะรับประทานยาก็อาจไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ นอกจากนี้ยังควรงดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่เป็นพิษต่อตับทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น

 

สำหรับอาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณลงได้แก่ อาหารที่มีไขมันมาก เช่น ของทอด ของมัน อาหารและน้ำที่มีรสชาติหวานจัด เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ผลไม้ที่มีรสหวานจัดเช่น มะม่วงสุก ทุเรียน เป็นต้น อาหารที่มีรสชาติเค็มจัด  ส่วนอาหารที่รับประทานได้แต่ต้องจำกัดปริมาณคือ อาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ถั่ว มัน วุ้นเส้น เป็นต้น หากเลือกได้ควรรับประทานข้าวกล้องที่มีเส้นใยอาหารสูงและอิ่มนานแทนข้าวขาว ส่วนอาหารที่สามารถรับประทานได้ไม่จำกัด คือ ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารดังที่กล่าวมานี้ ผู้ป่วยยังต้องรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน รับประทานอาหารให้เป็นเวลาและรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ

 

               สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรทำเป็นประจำคือ การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำหนักมากหรืออ้วนมากจะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลินมีผลให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวันแต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ การแกว่งแขนอยู่กับที่ การบริการร่างกาย โดยควรทำอย่างต่อเนื่องอาทิตย์ละสองถึงสามวัน ครั้งละประมาณ 20-30 นาที

 

               ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 มีการออกกำลังกายต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายดังนั้นจึงควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะกับตัวเอง โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ที่ต้องพึ่งพาอินซูลินจะต้องทราบชนิดของยาอินซูลินที่ใช้อยู่ ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงที่อินซูลินกำลังออกฤทธิ์สูงสุด และไม่ควรฉีดอินซูลินบริเวณอวัยวะที่ออกกำลังกาย เนื่องจากอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะออกกำลังกาย ทำให้มีอาการใจสั่น เหงื่อออก เป็นลม ดังนั้นจึงควรพกลูกอมหรือน้ำหวานไว้เผื่อฉุกเฉิน และไม่ควรออกกำลังกายในขณะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป การออกกำลังกายของผู้ป่วยแต่ละคนควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ควรออกกำลังกายต่อเนื่องในระดับเหนื่อยปานกลางอย่างน้อย 30 นาทีให้ได้ทุกวัน หากมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับ 200 – 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรควรออกกำลังกายภายใต้การดูแลของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และถ้าหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านี้ผู้ป่วยไม่ควรออกกำลังกายเนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ และผู้ป่วยทั้งสองประเภทควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมากเกินไป หรือออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น แน่นหน้าอก เหงื่อออกมากผิดปกติ ตาพร่ามัว ใจสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

 

          และสุดท้ายนอกจากจะควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตให้แจ่มใส พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเช็คความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายก็จะช่วยให้สามารถรับมือกับโรคเบาหวานได้แล้วค่ะ

 

ที่มา: 1 เบาหวาน รู้ทัน ป้องกันได้ โดย พันธิตร์ มะลิสุวรรณ

         2 ความรู้เรื่องเบาหวาน ฉบับสมบูรณ์ โดย ศ. น.พ. เทพ หิมะทองคำ และทีมบรรณาธิการ

 

yes เรียบเรียงโดย : รักสุขภาพดอทคอม raksukkapap.com







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#