อ่าน 3718 ครั้ง
เบาหวานขึ้นตา
content/59.jpg
 

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)

 

 

enlightenedสาเหตุ

 

             เบาหวานขึ้นตา  (Diabetic Retinopathy) หรือ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในกระแสเลือดมากเกินไปทำให้เส้นเลือดฝอยทำงานผิดปกติหรือเกิดการเสื่อมของเส้นเลือดฝอย มีการรั่วซึมของเลือดและสารต่าง ๆ ออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่จอประสาทตา หรือเกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอยโดยเฉพาะเส้นเลือดฝอยที่ส่งเลือดไปเลี้ยงประสาทตาทำให้ประสาทตาขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง โรคเบาหวานขึ้นตาสามารถแบ่งออกเป็นสองระยะตามความรุนแรงของโรค คือ ระยะต้น non-Proliferation DR (NPDR) จะมีเฉพาะจุดเลือดออกและไขมัน (exudates) ในจอประสาทตา ในขั้นนี้จะยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่แต่มีการรั่วซึมของเลือดออกจากเส้นเลือดฝอย ทำให้จอประสาทตาบวม เริ่มมีอาการตามัวและตรวจพบจุดเลือดบนตา และระยะที่สองหรือระยะรุนแรง proliferative DR (PDR) ในระยะนี้จะเริ่มมีการอุดตันของเส้นเลือดฝอย ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “จอตาขาดเลือด” ร่างกายจึงพยายามสร้างเส้นเลือดขึ้นมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป (neovascularization) ที่ขั้วประสาทตาหรือบริเวณอื่นของจอประสาทตา แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้จะมีความเปราะและแตกง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ทำให้เกิดเลือดออกในตาและเกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ผู้ป่วยมักมีสายตาแย่ลงอย่างมากทั้งจากเลือดออกและจอตาลอก เลือดขังอยู่ในลูกตาหรือวุ้นในตา มีผลทำให้การมองเห็นลดลงเฉียบพลัน เกิดอาการตามืด หรือ เป็นต้อหินทำให้ตาบอดได้ซึ่งหากตรวจพบในช่วงนี้จะทำให้การรักษายากขึ้น

           

enlightenedอาการ

              ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใด ๆ เนื่องจากไม่มีการเจ็บป่วย หรือการเปลี่ยนแปลงทางสายตา แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อน้ำเหลืองที่ออกมาจากเส้นเลือดฝอยที่แตกนั้นมีมากพอที่จะบดบังจุดศูนย์กลางของการมองเห็น ทำให้ประสิทธิภาพของการมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเห็นเหมือนมีเงาดำ ๆ บังอยู่ตรงกลาง เนื่องจากบริเวณจุดภาพชัดที่บวมน้ำรับภาพได้ลดลง (macular edema) จุดภาพชัดเป็นบริเวณสำคัญที่ใช้ในการมองภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณนี้จึงส่งผลต่อการมองเห็นอย่างมาก เมื่อมีอาการบวม ภาพที่มองเห็นจะมีลักษณะบิดเบี้ยว การมองเห็นสีต่าง ๆ มีความผิดเพี้ยน ไปหรือมองเห็นสีซีดจางลงเนื่องจากอาการตามืด ในรายที่เป็นมากและปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรง หลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดจะเกิดการอุดตัน เกิดภาวะขาดเลือดของจุดภาพชัด (macular ischemia) ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นจนกระทั่งตาบอดแบบถาวร  

 

enlightenedการรักษา

การรักษาเบาหวานขึ้นตานั้นไม่อาจทำให้สายตากลับมามองเห็นได้ชัดเจนเหมือนเดิม แต่เป็นการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามรุนแรงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งในส่วนของการรักษานั้นมีด้วยกันสามวิธีคือ

 

            1 การรักษาด้วยการฉายเลเซอร์ เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยมีข้อบ่งชี้คือ ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอตาในระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่และผู้ป่วยที่มีจุดภาพชัดบวม เลเซอร์จะทำให้หลอดเลือดใหม่ที่ผิดปกติฝ่อลง ส่งผลให้จอตายุบบวมและป้องกันการเกิดเลือดออกในตา การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นอาจต้องแบ่งยิงหลายครั้งเพื่อป้องกันภาวะจอตาบวมจากเลเซอร์ ก่อนทำใช้เพียงยาหยอดขยายม่านตาและยาชาเท่านั้น โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังการรักษาและล้างหน้าได้ตามปกติ

 

           2.  การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาวิธีใหม่โดยการฉีดยาที่มีคุณสมบัติลดการรั่วของหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดที่เกิดใหม่ฝ่อลงเข้าวุ้นตา มักใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีจุดรับภาพบวมและไม่ตอบสนองการรักษาด้วยเลเซอร์หรือตอบสนองต่อการักษาด้วยเลเซอร์น้อย ยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือ ยาสเตียรอยด์และยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ (anti-vascular endothelial growth factor) ข้อดีของการรักษาวิธีนี้ คือการตอบสนองต่อยาค่อนข้างดี มีผลทำให้จุดภาพชัดที่บวมยุบลงได้เร็ว การมองเห็นกลับฟื้นคืนได้เร็วขึ้น แต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นานและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาเข้าวุ้นตาได้แก่ การอักเสบติดเชื้อ เกิดจอตาลอก เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว เลือดออกในวุ้นตา หากเป็นโรคต้อกระจกอาจรุกลามเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีโอกาสเกิดขึ้นมีน้อยมาก (ต่ำกว่าร้อยละ 1) หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือและได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

           3. การรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาจอประสาทตา แพทย์ผู้รักษาจะใช้วิธีการผ่าตัดก็ต่อเมื่อผู้ป่ายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉายแสงเลเซอร์และการฉีดยา ตามปกติผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาส่วนใหญ่เลือดจะถูกดูดซึมหมดไปเองในระยะเวลา 2-3 เดือน ในรายที่เลือดไม่ถูกดูดซึมหมดไปหรือมีจอตาลอกจากพังผืดดึงรั้ง การผ่าตัดวุ้นตาอาจช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและสามารถซ่อมแซมจอตาที่ลอกให้กลับเข้าที่เดิมได้ แต่การมองเห็นอาจไม่กลับมาเป็นปกติขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย หลังจากการผ่าตัด อาจมีอาการตาแดง ปวดเคือง น้ำตาไหล และอาจทำให้การมองเห็นมัวลงในระยะ 2-3 สัปดาห์แรกแล้วค่อยทุเลาลง จากนั้นต้องใช้ยาหยอดและทานยาร่วมด้วย แม้ว่าการผ่าตัดรักษาจอประสาทตาจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เลือดออกในวุ้นตา ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาทำให้ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้เป็นปกติดังเดิม 

 

enlightenedการป้องกันและดูแลตนเอง

             ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรพบจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาความผิดปกติของตา โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจหาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาคือ ปีละหนึ่งถึงสองครั้ง สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจตาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลให้ภาวะเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้น หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่เกิดจากเบาหวานขึ้นจอตาแพทย์จะนัดตรวจติดตามต่อเนื่องหรือพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมตามระยะโรคที่ตรวจพบ นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำอาจพบว่ามีความผิดปกติกับดวงตาเพียงข้างเดียวซึ่งผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว เนื่องจากตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ตามปกติ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรทดสอบการมองเห็นของตาทีละข้าง โดยปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง แล้วใช้ตาข้างเดียวมอง ทำสลับกันทั้งสองข้าง หากพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลงควรไปพบแพทย์ทันที

          นอกจากนี้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก็เป็นเรื่องสำคัญ การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การควบคุมน้ำหนักและอาหาร หมั่นพบแพทย์หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ และโรคไต ก็สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของการเกิดเบาหวานขึ้นตาได้

 

ที่มา 1. อ.พญ.โสมนัส  ถุงสุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ความรู้สู่ประชาชน

       2. เบาหวาน รู้ทัน ป้องกันได้ โดย พันธิตร์ มะลิสุวรรณ

       3. ความรู้เรื่องเบาหวาน ฉบับสมบูรณ์ โดย ศ. น.พ. เทพ หิมะทองคำ และทีมบรรณาธิการ

       4. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ แห่งประเทศไทย

ภาพประกอบจาก: freedigitalphotos.net By dream designs

yes เรียบเรียงโดย รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#