อ่าน 4686 ครั้ง
เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 2
content/77.jpg
 

จากตอนที่ 1 เราได้แนะนำให้รู้จักสมุนไพรต้านมะเร็งส่วนแรกแล้ว

(เจาะลึกสมุนไพรในตำรับยาต้านมะเร็ง ตอนที่ 1)

ในตอนที่ 2 นี้เราจะมาทำความรู้จักกับเครื่องยาช่วยซึ่งก็คือ รากทนดี และ ดีเกลือ และเครื่องยาประกอบได้แก่ มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี และ พริกไทยกันค่ะ

 

>> ทนดี <<

          ชื่อสามัญ : ทนดี, ถ่อนดี (ภาคกลาง, ตรัง), ตองแตก, ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์), ลองปอม, พอบอเจ๊าะ, โทะโคละ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) , นองป้อม, ยาบูเวอ และ หญ้าโวเบ่อ (เลย)

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Baliospermum montanum (Willd.) Muell. Arg.  ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ยอดอ่อนมีขนใบ ใบเป็นรูปหอกเป็นวงรี  ใบบริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ดอกออกเป็นช่อแยกเพศบนต้นเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงสีเหลืองแกมเขียว 4-5 กลีบ ดอกตัวเมียออกที่โคนช่อ  ผลแห้งแตกได้ มี 3 พู

          ประโยชน์ทางยา : ส่วนของทนดีที่นำมาใช้คือ ราก โดยใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย บำรุงน้ำดี ขับลม ขับเสมหะและ ฆ่าพยาธิ; ใบ นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่ายได้ ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง วิธีนำมาใช้จะใช้ใบ 2 -4 ใบหรือรากหนึ่งหยิบมือต้มกับน้ำหนึ่งถ้วยแล้วเติมเกลือเล็กน้อยนำมาดื่มเพื่อใช้เป็นยาถ่าย

          ข้อควรทราบ : เมล็ดของทนดีมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรงส่วนมากจึงไม่นิยมใช้ มักจะใช้รากหรือใบเนื่องจากเป็นยาถ่ายอย่างอ่อนและมีความปลอดภัยมากกว่า

 

>>ดีเกลือ<<

          ดีเกลือ (epsom salts) ไม่ใช่พืชสมุนไพร แต่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตเกลือแกง (NaCl) ดีเกลือเป็นซัลเฟตของแมกนีเซียม มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือใส คล้ายผงชูรส ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ มีรสเค็มจัดจนขม นอกจากนี้ยังมีดีเกลืออีกประเภทหนึ่ง คือ ดีเกลือไทย (โซเดียมซัลเฟต) ซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น และมีรสเค็ม

          ประโยชน์ทางยา : ทั้งดีเกลือไทยและดีเกลือฝรั่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย  ถ่ายเสมหะ ขจัดสารพิษในร่างกาย นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับสมุนไพรตัวอื่นเพื่อ ใช้ขัดและบำรุงผิวได้อีกด้วย การแช่ตัวด้วยน้ำร้อนผสมดีเกลือสัก 2-3 ถ้วยตวง เป็นผลดีต่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและช่วยระบายสารพิษออกจากร่างกาย เพราะเมื่อแมกนีเซียมซัลเฟตถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนัง มันก็จะดึงเอาสารพิษออกจากร่างกาย ผ่อนคลายระบบประสาท ลดอาการบวม ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และยังมีคุณสมบัติที่ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม ช่วยขัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกด้วย

 

>> มะกรูด <<

          ชื่อสามัญ : มะขุน มะขูด (พายัพ) ส้มกรูด ส้มมั่วผี(ใต้) มะหูด(หนองคาย)

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC. วงศ์: Rutaceae

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันอยู่ตามผิวใบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ ก้านใบมีปีกดูคล้ายใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 แฉก โคนกลีบดอกติดกัน ผล เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลเรียวเป็นจุก ผิวขรุขระ มีต่อมน้ำมัน ผลอ่อนสีเขียวแก่ สุกเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด

          ประโยชน์ทางยา : เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น ขับระดู ขับผายลม เป็นยาบำรุงหัวใจ ผลดองใช้เป็นยาฟอกเลือดในสตรี ช่วยขับระดู น้ำมันจากผิวช่วยป้องกันรังแคและทำให้เส้นผมดกดำเป็นเงางาม แก้คัน แก้รังแค แก้ชันนะตุ น้ำผลมะกรูดมีรสเปรี้ยว แก้เสมหะในลำคอ เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิตระดู ขับลมในลำไส้ เนื้อของผล แก้ปวดศีรษะ

          ข้อควรทราบ : การใช้น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดกับผิวหนังในปริมาณที่มาก ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงเนื่องจากอาจทำให้เกิดพิษเมื่อสัมผัสกับแสงทำให้เกิดมีสารสีเกินที่ผิวหนัง บริเวณใบหน้า และลำคอได้

 

>> ขิง <<

          ชื่อสามัญ : ขิง

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale  Roscoe วงศ์: Zingiberaceae

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน  ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองแกมเขียว ผล เป็นผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. เป็น 3 พู เมล็ดหลายเมล็ด

          ประโยชน์ทางยา : เหง้าแก่สด ใช้เป็นยาแก้อาเจียน ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี  มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูกและช่วยลดความดันโลหิตได้

          ข้อควรทราบ : เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด คุณสมบัติอุ่น คนที่มีความร้อนภายใน รวมทั้งริดสีดวง เหงื่อ ออกมาก เหงื่อออกกลางคืน ตา แดง เจ็บคอ ไม่ควรรับประทานขิง

 

>> ดีปลี <<

          ชื่อสามัญ : ดีปลี ดีปลีเชือก ประดงข้อ ปานนุ พิษพญาไฟ ปีกผัวะ

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper retrofractum  Vahl  วงศ์: Piperaceae

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถารากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ใบ เดี่ยวรูปไข่แกมขอบขนาน สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น แยกเพศ ผล เป็นผลสด มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสเผ็ดร้อน

          ประโยชน์ทางยา : ผลแก่จัดจะมีรสเผ็ดร้อนนำไปใช้ แก้ลม บำรุงธาตุไฟ แก้หืดไอ แก้เสมหะ หลอดลมอักเสบ ยาขับระดู ยาธาตุ ทาแก้ปวดเมื่อยและอักเสบของกล้ามเนื้อ แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด ขับลม บำรุงธาตุ  ใช้ประกอบตำรายาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ธาตุไม่ปกติ

          ข้อควรทราบ : ไม่ควรบริโภคปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะอักเสบ แสบทวารเวลาถ่าย คนมีไข้ไม่ควรกินจะทำให้ร้อนใน หญิงมีครรภ์ห้ามกินเพราะอาจทำให้แท้งได้

 

>> พริกไทย<<

          ชื่อสามัญ : พริกไทย, พริกน้อย (ภาคเหนือ)

          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum  L

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เลื้อยมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ลำต้นมีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรี ปลายใบแหลม โคนใบมนกลมหรือแหลมเล็กน้อย เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3 - 5 เส้น ดอกออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบ ช่อรูปก้านใบยาว 10 - 20 มม. แก่แล้วมีเมล็ดสีดำ

          ประโยชน์ทางยา : ใบ  ใช้แก้ลมจุกเสียดแน่น ท้องอืดเฟ้อ ผลที่ยังไม่สุกนำมาเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหาร เมล็ดพริกไทยใช้ ขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ  อาหารไม่ย่อย ดอกพริกไทยใช้แก้ตาแดง

          ข้อควรทราบ : การกินพริกไทยมากเกินไปจะทำให้ตาลาย เวียนศีรษะ เกิดฝีหนองเนื่องจากพริกไทยมีคุณสมบัติร้อนและแห้ง ถ้ากินมากทำให้ม้าม กระเพาะอาหาร ปอดถูกทำลาย คนที่กินพริกไทยมากและบ่อยเกินไป ทำให้ตาอักเสบได้ง่าย ทำให้คอบวมอักเสบเจ็บคอบ่อย เป็นแผลในปากและฟันอักเสบเป็นหนอง

 

            heart จะเห็นได้ว่าสมุนไพรแต่ละชนิดต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปหากเมื่อนำมารวมกันก็อาจมีฤทธิ์บางอย่างที่ส่งเสริมกันและช่วยต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญนะคะ

 

yes เรียบเรียงโดย : รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com

อ้างอิง

1.      ฐานข้อมูลพรรณไม้องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี

2.      สรรพคุณสมุนไพรประเภทยาถ่าย ครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

3.      ดีเกลือ...เกลือดีเพื่อสุขภาพและความงาม สกุลไทยออนไลน์

4.      พริกไทย หมอชาวบ้านออนไลน์

5.      ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net  by Stoonn







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#