อ่าน 3271 ครั้ง
กาแฟลดความอ้วนเชื่อถือได้จริงหรือไม่ ?
content/86.jpg
 

           ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กาแฟลดความอ้วน กาแฟลดน้ำหนัก กาแฟผสมอาหารเสริมต่าง ๆ ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่าปลอดภัยและที่ไม่มีการรับรองใด ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักโฆษณาสรรพคุณมากมายทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ แต่จริง ๆ แล้วผลิตภัณฑ์กาแฟเหล่านี้สามารถลดน้ำหนัก หรือ ลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ต้องพิจารณาจากหลายประการดังนี้

 

            ผลิตภัณฑ์ดังที่กล่าวมานั้นจะมีกาแฟเป็นส่วนประกอบหลักแต่ในความเป็นจริงแล้วกาแฟมีส่วนประกอบใดที่มีสรรพคุณในการควบคุมน้ำหนักหรือไม่?  ในกาแฟมีสารคาเฟอีน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจและระบบประสาทส่วนกลางทำให้เมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายทำให้รู้สึกว่าออกกำลังกายได้นานขึ้น ขนาดปกติที่ได้รับไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นขนาดที่แสดงฤทธิ์ยา หากได้รับมากเกินขนาดที่กำหนดจะมีผลเสียทำให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น กระวนกระวาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และบางครั้งหงุดหงิดง่าย กาเฟอีนไม่ได้จัดเป็นสารเสพติดเนื่องจากไม่ต้องเพิ่มปริมาณการบริโภคขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถหยุดบริโภคได้ทันที ผลจากการได้รับกาเฟอีนบางอย่างที่ใกล้เคียงกับสรรพคุณในการลดน้ำหนักคือ เมื่อดื่มกาแฟเข้าไปเพียง 5 นาที กาเฟอีนจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย มีผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ระบบหายใจทำงานเร็วขึ้น ระบบย่อยอาหารขับน้ำย่อยที่เป็นกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น และระบบสูบฉีดโลหิตโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวแรงขึ้น ถึงแม้ว่ากาเฟอีนจะมีส่วนต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย แต่ถ้าหากดื่มเป็นปริมาณมากโดยคาดหวังว่าจะให้ร่างกายผอมหุ่นดีนั้น อาจเกิดอันตรายกับร่างกายเพราะจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ อีกทั้งยังไม่มีรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่สนับสนุนว่าการบริโภคกาแฟสามารถลดหรือควบคุมน้ำหนักได้

 

            การโฆษณากาแฟลดความอ้วนที่โดยระบุสรรพคุณว่ากินแล้วผอมนั้นถือว่าเป็นการกล่าวอ้างเกินจริง ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา  40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เนื่องจากโดยปกติกาแฟไม่มีคุณสมบัติในการควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ไม่เข้าข่ายเป็นอาหารสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนักจึงไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กาแฟจัดเป็นอาหารไม่ใช่ยา จึงไม่มีสรรพคุณใช้รักษาบำบัดภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนได้ การโฆษณากล่าวอ้างดังกล่าวจึงถึงเป็นการหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสรรพคุณอาหาร ต้องระวางจำโทษคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

           สำนักงานอาหารและยาได้เตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างดังกล่าว เนื่องจากได้รับการร้องเรียนถึงอาหารเสริมอ้างว่ากินแล้วผอม แต่ต่อมาตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ไซบูทรามีน (sibutramine) ซึ่งเป็นยาลดความอ้วนและเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น การรับประทานเข้าไปโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนักแต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก

 

          นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กาแฟที่ฉลากข้างกล่องกาแฟมีการอวดอ้างว่าผสมสารสกัดสรรพคุณความงามอาทิ ไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นิทีน โครเมียม สารสกัดจากถั่วขาวและอื่น ๆ ในที่นี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเครื่องหมาย อย.ไม่ได้หมายความว่ามีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ เพียงแต่ อย. มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีสารดังกล่าวอยู่ตามที่ระบุและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเท่านั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น กาแฟ ถึงแม้จะผสมสารอาหารใดๆ ก็ตาม ไม่มีคุณสมบัติในการลดความอ้วนได้ ตัวอย่างเช่น ไฟเบอร์ก็เพียงช่วยเพิ่มกากอาหาร คอลลาเจนโดยปกติก็พบอยู่ในเนื้อสัตว์และเมื่อรับประทานเข้าไปก็จะถูกย่อยให้เป็นโปรตีนขนาดเล็กก่อนดูดซึมเหมือนรับประทานอาหารที่มีโปรตีนทั่วไป แอลคาร์นิทีน และโครเมียมไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักแต่อย่างใด ส่วนสารสกัดจากถั่วขาว คือ ฟาร์ซีโอลามีน นั้นแม้จะมีคุณสมบัติในการยับยั้งการย่อยข้าวกับแป้งแต่ก็ไม่มีผลต่อน้ำตาลที่ผสมมาในเครื่องดื่มแต่อย่างใด ร่างกายจึงได้รับน้ำตาลและทำให้อ้วนได้เช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณที่ผสมในเครื่องดื่มกาแฟนั้นยังน้อยเกินกว่าที่จะออกฤทธิ์อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นหากบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากจนเกินไปอาจต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีลักลอบเติมยาอันตรายมาในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นนอกจากเป็นโทษต่อร่างกายแล้วอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตด้วย

          ดังนั้นสรรพคุณที่โฆษณาส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นการอวดอ้างโฆษณาเกินจริงทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติลดความอ้วนได้ นอกจากนี้การปรุงสี กลิ่น รส โดยการเพิ่มน้ำตาลและครีมตลอดจนสารปรุงรสอื่นๆ ที่ช่วยให้เข้มข้นน่ากิน ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของความอ้วนทั้งสิ้น การลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละสามวัน วันละสามสิบนาที รวมถึงควบคุมอาหารไม่รับประทานอาหารมันจัด หวานจัด หรือเต็มไปด้วยแป้ง แค่นี้นอกจากจะห่างไกลจากความอ้วนแล้วร่างกายก็จะแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียนอีกด้วย

 

yes เรียบเรียงโดย รักสุขภาพดอทคอม Raksukkapap.com

อ้างอิง : กองควบคุมอาหาร สำนักงานอาหารและยา

ภาพประกอบจาก freedigitalphotos.net by Apolonia

 







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#