อ่าน 3456 ครั้ง
“นวดกดจุด” บำบัดอาการปวด
content/89.jpg
 

          อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกายเกิดขึ้นได้กับทุกคน  นอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้วยังก่อให้เกิดความรำคาญอีกด้วย โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานในสำนักงานเป็นเวลานานโดยแทบไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถเลย ยิ่งก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยมากขึ้น และหากยังมีพฤติกรรมเดิมในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้กลายเป็นการปวดเรื้อรังและสร้างความเจ็บปวดทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

 

          กมลนัทธ์ เขียวศรี แพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยา ลัยมหิดล ประจำคลินิก Pain Solution ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังว่า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอุบัติเหตุจากการทำงานและจากพฤติกรรมเดิม ๆ ของกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานในสำนักงานและใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งจะเป็นการสะสมอาการปวดไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังตามมา

 

          อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อ รังเป็นอาการที่ไม่จำกัดเพศและอายุ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คือ ในผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้หญิง 80 คน ผู้ชาย 20 คน โดยก่อนหน้านี้จะพบอาการในวัยทำงานอายุเฉลี่ย 25 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันภาวะปวดเรื้อรังจะพบคนไข้ที่มีอายุต่ำลงเรื่อย ๆ โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี

  

          การกดจุด ถือเป็นวิธีการบรรเทาอาการปวดเรื้อรังอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องรับประทานยา สามารถรักษาอาการปวดได้ตรงจุด ลดการปวดและป้องกันการเกิดซ้ำ โดยนำหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์มาใช้ในการรักษา ซึ่งรักษาโดยการกดเฉพาะจุดในตำแหน่งที่มีปัญหาหรือกล้ามเนื้อที่มีความเชื่อมโยงกันจนทำให้เกิดอาการปวด 

 

         กมลนัทธ์ อธิบายการรักษาโดยการกดจุดให้ฟังว่า เป็น การกดกล้ามเนื้อมัดลึก โดยจะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายและเช็คกล้ามเนื้อคนไข้ก่อน เพื่อประเมินว่าจะรักษาโดยวิธีการกดจุดได้หรือไม่ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แนะนำให้เข้ารับการรักษา คือ ผู้ป่วยที่ เป็นโรคผิวหนังทุกชนิดที่สามารถจะติดต่อผู้อื่นได้ คนไข้ที่มีภาวะของมะเร็งต่าง ๆ คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป และในส่วนของกระดูกแตก กระดูกร้าว จะไม่แนะนำให้เข้ารับรักษาเช่นกัน สำหรับคนไข้ที่เป็นเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาโดยการกดจุดได้ แต่ต้องตรวจสภาพความพร้อมของร่างกายทุกครั้ง โดยจะเข้ารับการรักษาอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 40-45 นาที ซึ่งคนไข้จะรู้สึกเจ็บในช่วง 15-20 นาทีแรก จากนั้นจะรู้สึกสบายตัวขึ้น ถ้ากล้ามเนื้อมีการปรับตัวหรือคลายตัวลง โดยแพทย์จะกดลงจุดให้คนไข้แต่ละคนไม่เท่ากัน โดยจะประเมินตามสภาพกล้ามเนื้อของคนไข้ว่าจะรับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด หลังจากนั้น ถ้าสภาพกล้ามเนื้อคลายตัวได้เร็วขึ้นก็จะรู้สึกดีขึ้นอาการปวดจะลดลง

  

          โดยปกติกล้ามเนื้อของคนทั่วไปจะไม่มีก้อน แต่กลุ่มคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรังกล้ามเนื้อจะเป็นก้อน ในขณะที่การรักษาเมื่อกดจุดลงไปจะคลำเจอก้อนเนื้อจนคนไข้รู้สึกได้เลยว่าตำแหน่งที่กำลังกดจุดอยู่นั้นมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ โดยก้อนเนื้อที่ทำให้ปวดเรื้อรังนี้ไม่ใช่ซีสต์ ไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่เป็นพังผืดในมัดกล้ามเนื้อที่มีภาวะหดเกร็งสะสมแล้วแทรกอยู่ในมัดกล้ามเนื้อ ซึ่งแสดงออกมาในภาวะที่เป็นก้อนเกร็งขึ้นมา ทำให้คนไข้เกิดอาการปวด

  

          “การกดจุดนี้ก็เพื่อให้พังผืดที่มีการเกาะรั้งในตำแหน่งมัดกล้ามเนื้อข้าง ๆได้มีการคลายตัวแล้วก็มีการหลุดออกจากตำแหน่งที่เกาะในบางส่วน หลังจากนั้นเลือดจะเป็นตัวย่อยสลายเอง เนื่องจากเลือดเป็นตัวย่อยสลายพังผืดในมัดกล้ามเนื้อที่ดีที่สุด ซึ่งการกดจุดจะเป็นการกระตุ้นทำให้เลือดมีการฉีดตัวได้แรงขึ้น มีการปั๊มได้แรงขึ้น ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงส่วนที่เป็นก้อนได้ดีมากขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเพื่อให้ร่างกายกลับมาสู่สภาวะสมดุล”

  

           ลักษณะการกดไม่ได้กดนิ่ง แต่จะกดแล้วขยับไปรอบ ๆ ก้อนเนื้อ หรือรอบ ๆ กล้ามเนื้อที่มีปัญหา โดยก้อนเนื้อไม่ได้สลายไปเลยทีเดียวแต่ก้อนเนื้อจะนิ่มลง กล้ามเนื้อที่มีภาวะหดเกร็งอยู่ได้คลายตัวลง เลือดจะเข้าไปเลี้ยงได้ดีขึ้น แต่ในกรณีที่เมื่อกดไปแล้วกล้ามเนื้อยังเกร็งอยู่จะพบในคนไข้ที่กินยาแก้ปวดมานานเป็นเวลา 8-10 ปี จึงทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ยาก ในกรณีเช่นนี้จะต้องใช้เวลาในการกดจุดนานกว่าคนไข้ที่เพิ่งเป็น 2-3 ปี

  

          ระยะการรักษาขึ้นอยู่กับอาการปวดของคนไข้แต่ละคน ส่วนใหญ่เข้ารักษา 2 เดือนก็จะเห็นผล โดยอาการจะดีขึ้นแต่ไม่ได้หายจากอาการปวดเรื้อรัง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการรักษาให้ดีขึ้นได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับการดูแลตน เองของคนไข้ว่าจะมีการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้องในแต่ละวันได้หรือไม่ เช่น ไม่นั่งในท่าเดิมนาน ๆ หรือแม้แต่สะพายกระเป๋าหนัก ๆ บนบ่าเป็นประจำโดยไม่เปลี่ยนข้างสะพาย ไม่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก ๆ รวมทั้ง ต้องหมั่นบริหารยืดกล้ามเนื้อร่วมด้วยโดยแพทย์จะสอนหลังจากเข้ารับการรักษาโดยการกดจุดแล้ว ซึ่งเป็นการฝึกบริหารกล้ามเนื้อในระหว่างวันไม่ให้อยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อกลับมาหดเกร็งเหมือนเดิม

  

          การดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง สามารถทำได้โดยมีการพักเพื่อยืดกล้ามเนื้อบ้าง 5-10 นาที ทุก ๆ 1 ชั่วโมง โดยการหมุนแขนเบา ๆ หรือจะเป็นท่าหันหน้าซ้ายให้สุดนับ 1-10 จากนั้นสลับเป็นด้านขวานับ 1-10 ทำสลับซ้ายขวา 5-10 ครั้ง รวมทั้ง เอามือดึงศีรษะไปด้านข้าง ซ้าย-ขวา นับ 1-10 ทำสลับกัน 5-10 ครั้งเช่นกัน โดยการทำทุกท่าจะต้องไม่ฝืน ถ้ารู้สึกตึงก็ปล่อยกลับสู่สภาพปกติ ก็จะเป็นการยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดได้

 

ที่มา : บทความนวดกดจุดตำรับแพทย์แผนไทยรักษาถูกที่หมายลดปวดเรื้อรัง เดลินิวส์ออนไลน์ 







Create your own banner at mybannermaker.com!








รักสุขภาพ : ข่าวสุขภาพ#บทความสุขภาพ#โรคน่ารู้#ลดความอ้วน#ลดน้ำหนัก#รักษาสิว#รักษาฝ้า#เบาหวาน#ความดัน#อาหารเสริม#ผิวขาว#กลูตาไธโอน#กาแฟลดน้ำหนัก#